|
ปลายปี 1998 ฟางเฟย บัณฑิตหมาดๆจากรั้วมหาวิทยาลัย เดินทางจากไกลจากเซินเจิ้น มาถึงปักกิ่ง เพื่อผ่าตัดเพิ่มความสูงเช่นกัน โดยได้จ่ายค่าผ่าตัดแก่โรงพยาบาลเป็นเงิน 1 หมื่นหยวน (50,000 บาท) หลังการผ่าตัดครั้งแรกผ่านไป 33 วัน ผลการวัดความยาวของขา เป็นที่น่ายินดีว่าขาของฟางเฟยยาวขึ้น 4.9 เซนติเมตร แต่ที่น่าเศร้าก็คือ ขาทั้งสองข้างมีลักษณะบิดเบี้ยวผิดปกติ โรงพยาบาลยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และผ่าตัดให้ฟางเฟยใหม่ช่วงกลางปี 1999 จนถึงปลายปี 2000 ฟางเฟยจึงได้สามารถออกจากโรงพยาบาล โดยใช้ไม้ช่วยพยุง
ต่อมาต้นปี 2001 ฟางเฟยได้ยื่นฟ้องโรงพยาบาลดังกล่าวต่อศาลเขตชังผิง นครปักกิ่ง เป็นเงิน 360,000 หยวน (ราว 1,800,000 บาท) ผลการพิสูจน์ของแผนกพิสูจน์งานทางวิทยาศาสตร์ของศาล ระบุว่า “น่องทั้งสองข้างของฟางเฟย มีความสั้นยาวไม่เท่ากัน โดยน่องข้างขวายาว 44 เซนติเมตร มีลักษณะเบี้ยวออกด้านนอก ส่วนน่องข้างซ้ายยาว 45 เซนติเมตร และมีลักษณะเอียงเข้าด้านใน จัดว่ามีความพิการในระดับ 8 ” สุดท้าย ฟางเฟยได้รับเงิน 74,000 หยวน (ราว 370,000 บาท) แต่ต้องกลายเป็นคนทุกพลภาพไปตลอดชีวิต
เมื่อปลายปีที่แล้ว เสี่ยวหลิน สาวเมืองกว่างโจว วัย 24 ปี ปัจจุบันสูง 1.58 เมตร แต่ต้องการเพิ่มความสูงให้ตนเองอีก 8 เซนติเมตร จึงตัดสินเข้ารับการผ่าตัดกระดูกในโรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งในเขตไป๋หยุน
เสี่ยวหลินเล่าว่า ก่อนที่หมอจะลงมีด ได้พูดกับเธอว่า “การผ่าตัดยืดกระดูกแบบนี้ง่ายมาก และไม่ทำให้เจ็บปวดมากมายอะไร เมื่อออกจากโรงพยาบาลก็สามารถเดินได้ทันที หมอยังบอกอีกว่า 1 เดือน หลังการผ่าตัด เสี่ยวหลินจะสูงขึ้นทันที 8-10 เชนติเมตร และภายใน 3 เดือนก็จะหายเป็นปกติ ”
แต่เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้นลง เสี่ยวหลินไม่สามารถขยับหัวเข่าได้ กระดูกขาถูกตัดเป็น 3 ท่อน และถูกตรึงด้วยตะปู 17 ตัว บาดแผลเกิดการอักเสบ บวม และมีเลือดไหล ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเดินได้หรือไม่ได้ แม้แต่ขยับนิดเดียวก็ยังไม่สามารถทำได้
หลังจากออกจากโรงพยาบาล 4-5 เดือน เธอนอนหลับได้แค่คืนละหนึ่งชั่วโมง ความเจ็บปวดแสนสาหัสที่บาดแผลและที่กล้ามเนื้อ ทำให้เธอไม่สามารถหลับตาลงได้ เสี่ยวหลินกล่าวว่า เคยคิดฆ่าตัวตายหลายครั้ง เพราะต้องการหนีจากความทุกข์ทรมานเหล่านี้
สุดท้ายความหวังที่ตั้งไว้ว่าจะสูงขึ้น 8 เซนติเมตรก็ล้มเหลว เพราะไม่สามารถทนกับความเจ็บปวดต่อไปได้ แต่หมอก็บอกว่าความทรมานที่เธอได้รับ ใช่ว่าจะสูญเปล่า เพราะเธอจะสูงขึ้นอีก 6 เซนติเมตร
ปัจจุบันเสี่ยวหลินยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนคอยช่วยตลอดเวลา จินหมิงซิน อาจารย์แพทย์และหัวหน้าศูนย์กระดูกประจำมหาวิทยาลัยแพทย์ทหารหมายเลข 1 ของโรงพยาบาลหนันฟัง ในเมืองกว่างโจวกล่าวว่า แม้ว่าเคยผ่าตัดรักษาผู้ที่มีความผิดปกติของแขนขามาหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่ไม่เคยผ่าตัดเพื่อเพิ่มความสูงเลย
“ผมคิดว่าการผ่าตัดเพิ่มความสูง ต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด เพราะโรคแทรกซ้อนของการผ่าตัดชนิดนี้ชนิดนี้มีมากทีเดียว”
มีคนไข้จำนวนมากที่ผ่าตัดล้มเหลวจากโรงพยาบาลอื่น แล้วมารักษาที่โรงพยาบาลหนันฟัง คุณหมอจิน เล่าว่า “พวกเราได้พบเห็นคนไข้ที่เกิดโรคแทรกซ้อนจำนวนมาก คาดว่าโอกาสที่อาจเกิดโรคแทรกซ้อนมีมากถึง 60-70% โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงน้อยที่สุด ก็คือโรคเอ็นข้อเท้าหดตัว ลักษณะคล้ายกับเวลาที่เต้นบัลเลย์ แล้วจะเดินได้อย่างไร” |
|