|
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ IPL
อ.นพ.สิทธิโชค ทวีประดิษฐ์ผล
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
IPL (ย่อมาจาก Intense Pulsed Light) เป็นเครื่องมือที่ให้ลำแสงที่มีความเข้มข้นสูง มี
ความยาวของคลื่นแสงตั้งแต่ 515 ถึง 1,200 นาโนเมตร และสามารถปรับความยาวของคลื่นและ
ระยะเวลาการปล่อยลำแสงที่พอเหมาะในการใช้งานโดยการใช้ฟิลเตอร์
หลักการทำงานของ IPL แตกต่างจาก Laser ตรงที่คลื่นแสงที่ถูกปล่อยออกมาจะมีช่วงความ
ยาวของคลื่นแสงที่กว้างกว่า
IPL ถูกนำมาใช้งานในการรักษารอยโรคบางชนิดบนผิวหนัง และใช้ในการปรับสภาพผิวหน้า
ในผู้ป่วย ปัจจุบันมีเครื่อง IPL หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกัน
ออกไป
รอยโรคทางผิวหนังที่สามารถรักษาได้โดย IPL ได้แก่
1. รอยโรคของเส้นเลือด เช่น ปานแดงตั้งแต่กำเนิด, จุดเส้นเลือดขอด
2. รอยโรคที่เกิดจากเม็ดสีของผิวหนัง เช่น ปานดำตั้งแต่กำเนิด, กระ, ฝ้า เป็นต้น
3. การถอนขน
4. การปรับสภาพผิวหน้าให้กระชับ
5. การรักษาสิวโดยใช้ร่วมกับสารเคมีบางชนิด เช่น 5-ALA
6. การรักษาแผลเป็นนูน
การรักษาโดย IPL สามารถทำในลักษณะผู้ป่วยนอกได้เหมือนการทำ Laser โดยทั่วไปใช้
ระยะเวลาในการรักษา 4-6 ครั้ง แต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที เว้นระยะห่างครั้งละ 3-6
สัปดาห์
ข้อดีของการรักษาโดย IPL ได้แก่
1. ลำแสงของ IPL จะไม่ทำลายผิวหนังชั้นบนสุดซึ่งแตกต่างจาก Laser
2. ไม่ทำให้เกิดบาดแผล
3. ใช้เวลาในการรักษาแต่ละครั้งน้อย และผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติ
ผลข้างเคียงของการรักษาโดย IPL เกิดขึ้นบ้างแต่ไม่รุนแรง เช่น
1. อาการเจ็บขณะที่ทำการรักษา
2. ในบางรายอาจมีผิวหนังแดง
3. ปวดแสบร้อน ซึ่งมักจะพบได้ใน 2-3 วัน หลังให้การรักษา
4. บางรายอาจจะเกิดเป็นรอยด่างขาว ซึ่งจะค่อยๆ จางหายได้เอง
ในบางรายอาจจะมีสีของผิวหนังเข้มขึ้นได้ แต่สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงแสงแดด
หรือใช้ครีมทากันแดด เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจากสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย
THE SOCIETY OF AESTHETIC PLASTIC SURGEONS OF THAILAND |
|