|
ถึงฝรั่งจะนิยมสาวที่มีริมฝีปากเต่งตูมแบบ แองเจลิน่า โจลี ให้เป็นเรียวปากที่ดูเซ็กซี่ แต่สำหรับสาวเอเชีย โดยเฉพาะสาวไทยอย่างเรา ๆ ไม่ว่าอย่างไรก็ยังคงนิยมการมีริมฝีปากเล็กบางน่ารักมากกว่าอยู่ดี เข้าตำราที่ว่า ปากนิด จมูกหน่อย ริมฝีปากจุ๋มจิ๋ม จึงดูน่ารักนั่นเองค่ะ ผู้ที่มีปัญหาริมฝีปากหนาหลาย ๆ คนจึงเกิดไม่มั่นใจ ไม่ว่าจะในการพูด การยิ้ม การแต่งหน้า เพราะว่าขนาดริมฝีปากที่หนา จึงไม่ได้สัดส่วนและไม่เข้ารูปกับใบหน้า แต่ในปัจจุบันปัญหานี้ก็จัดการได้ด้วยฝีมือแพทย์แล้วล่ะค่ะ นั่นคือการทำศัลยกรรมตัดแต่งริมฝีปากให้บางลงนั่นเอง ทว่าผู้ป่วยบางรายก็ไม่ได้เข้ารับการศัลยกรรมตัดแต่งให้ริมฝีปากบาง ด้วยเหตุผลเรื่องบุคลิกภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ริมฝีปากที่หนาเกินไป ยังทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการพูด การรับประทานอาหาร หรือว่าการดื่มด้วย
คุณเหมาะแล้วหรือยังกับการศัลยกรรมปากบาง ?
เพื่อที่จะทราบได้ว่าปัญหาริมฝีปากหนาของคุณเหมาะสมที่จะแก้ไขด้วยการศัลยกรรมทำปากบางหรือไม่ ทางที่ดีที่สุด คือการเข้าปรึกษากับศัลยแพทย์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรมตัดแต่งริมฝีปากโดยเฉพาะ เพราะลักษณะริมฝีปากหนาในผู้ป่วยบางราย ไม่ได้เกิดจากการที่มีเนื้อริมฝีปากเยอะ แต่มาจากการความผิดปกติของโครงสร้างอื่น เช่น โครงกระดูกหน้ายื่น ฟันหน้ายื่น คางสั้น หรือกระดูกขากรรไกรไม่เจริญเติบโตตามสมควร ซึ่งทุกประการล้วนส่งผลกระทบทำให้ริมฝีปากถูกดันออกมา จึงทำให้ดูหนา ทางแก้ที่ดีจึงต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ มากกว่าการตัดแต่งเนื้อที่ริมฝีปากออก
ส่วนผู้ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ริมฝีปากหนาเพราะว่ามีเนื้อที่เรียวปากมากเกินไป จึงสามารถปรึกษาเพื่อทำการตัดแต่งให้บางลงได้ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการพูดคุยตกลงเกี่ยวกับรูปแบบเรียวปากที่คุณต้องการ และความเป็นไปได้ในกระบวนการศัลยกรรม และหาแบบรูปปากที่เหมาะสมกับใบหน้าของคุณมากที่สุด โดยการศัลยกรรมตัดแต่งริมฝีปากในผู้ป่วยบางราย อาจไม่สามารถทำให้บางลงได้มากเท่ากับที่ผู้ป่วยต้องการ เพราะอาจเกิดปัญหาปิดปากได้ไม่สนิท ทำให้มองเห็นฟันตลอดเวลา ตามมาภายหลัง
กระบวนการศัลยกรรมตัดปากบาง
ก่อนหน้าจะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด แพทย์จะสอบประวัติการรับประทานยาของคุณ และอาจสั่งหยุดยาบางตัว ที่ส่งผลกระทบต่อแผลผ่าตัด รวมทั้งสั่งให้งดบุหรี่ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด เพราะบุหรี่ส่งผลให้บาดแผลหายช้า
กระบวนการตัดแต่งริมฝีปากใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น หากมีการทำศัลยกรรมในส่วนอื่น ๆ ของใบหน้าร่วมด้วย เช่น การทำจมูก เสริมคาง เหลากราม ฯลฯ เริ่มต้นด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ ร่วมกับให้ยานอนหลับอย่างอ่อน เพื่อระงับความเจ็บปวดและลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย
จากนั้นแพทย์จะกรีดด้านในริมฝีปากเป็นทางยาว แล้วตัดเนื้อเยื่อริมฝีปากด้านใน รวมทั้งเยื่อบุช่องปากในบริเวณนั้นออก จากนั้นเย็บรั้งเข้าหากันด้วยไหมธรรมดา หรือบางที่อาจใช้ไหมละลาย |
|