|
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ การเสริมเต้านม
ซิลิโคน คืออะไร
ซิลิโคนเป็นสารประกอบหรือเป็นพอลีเมอร์ที่ประกอบด้วยด้วยธาตุซิลิคอน คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน โดยเป็นวัสดุยืดหยุ่นที่อยู่ในรูปของเหลว เจล หรือ ยาง ซิลิโคนพบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านทั่วไป เช่น น้ำยาขัด ครีมทำให้ผิวเป็นสีแทน ครีมทามือ ผลิตภัณฑ์ลดเหงื่อ สบู่ อาหารสำเร็จรูป สารเคลือบกันน้ำ หมากฝรั่ง และงานทางการแพทย์
ถุงเต้านมเทียมที่ทำจากซิลิโคนปลอดภัยหรือไม่?
ซิลิโคนยังใช้เป็นวัสดุเคลือบผิวเครื่องมือทางการแพทย์ที่ฝังในร่างกายหลายชนิด เช่น ลิ้นหัวใจเทียม, ข้อเข่า, หมอนรองกระดูก ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสารซิลิโคนน้อยมากหรือไม่มีเลย นอกจากนี้ยังไม่พบข้อสรุปหรือหลักฐานใดที่พิสูจน์ได้ว่า การฝังซิลิโคนก่อให้เกิดโรคร้ายในร่างกายได้ และในความเป็นจริงมนุษย์ทุกคนต้องพบกับซิลิโคนอย่างสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน
การหดตัวของแคปซูลคืออะไร?
เมื่อใดก็ตามที่มีการฝังวัสดุเข้าในร่างกาย ร่างกายจะมีการสร้างพังผืดซึ่งก็คือแผลเป็นห่อหุ้มรอบวัสดุนั้น การผ่าตัดใส่เต้านมเทียมก็เช่นกัน จะมีการสร้างพังผืดขึ้นหุ้มรอบถุงเต้านมเทียม ถ้าร่างกายสร้างพังผืดมากเกินไปและมีการหดรัดตัวมากเกินไปจะเรียกว่า มีการหดตัวของแคปซูล ซึ่งมีโอกาสเกิดได้ประมาณ 4-10% ภายหลังการผ่าตัดเสริมเต้านม
การหดตัวของแคปซูลอาจจะไม่มีอาการเลย หรือมีอาการเจ็บและเต้านมผิดรูป ถ้ามีอาการมากจะต้องผ่าตัดแก้ไข ซึ่งอาจจะทำได้โดยการกรีดเลาะแคปซูล และเปลี่ยนถุงเต้านมเทียม แต่ก็มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำใหม่ได้อีก
ทำไมร่างกายจึงสร้างแคปซูลรอบวัสดุปลูกฝัง?
เป็นปฏิกิริยาโดยธรรมชาติที่ตอบโต้ต่อสิ่งแปลกปลอมใดๆ ที่ถูกใส่ในร่างกาย เนื้อเยื่อแผลเป็นจะก่อตัวรอบๆ ผิวของถุงเต้านมเทียม
การเสริมเต้านมก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่?
จากการศึกษาไม่พบว่าการเสริมเต้านมทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่เสริมเต้านม ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อนี้ Silicone Gel-Filled Breast Implants: Updated Safety Information ได้ที่เว็บไซต์ www.fda.gov/breastimplants
การเสริมเต้านมส่งผลต่อการถ่ายภาพรังสีเต้านมอย่างไร?
การเสริมเต้านมอาจทำให้การตรวจหามะเร็งเต้านมโดยการถ่ายภาพรังสีทำได้ยากขึ้น แพทย์รังสีจึงจำเป็นจะต้องใช้เทคนิคพิเศษอื่นในการตรวจหามะเร็งเต้านม ท่านจำเป็นต้องแจ้งรังสีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพรังสีเต้านมว่าท่านได้ทำการเสริมเต้านมก่อนเริ่มการตรวจ และท่านควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากสมาชิกในครอบครัวของท่านมีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม
เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดอาการแพ้ซิลิโคน?
โอกาสเกิดการแพ้ซิลิโคนนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะเราทุกคนต้องสัมผัสกับซิลิโคนที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น น้ำยาขัด ครีมทำให้ผิวเป็นสีแทน และครีมทามือ น้ำยาระงับเหงื่อ สบู่ อาหารสำเร็จรูป น้ำยาเคลือบกันน้ำ และหมากฝรั่ง เป็นประจำทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
อายุการใช้งานของถุงเต้านมเทียม ที่คาดการณ์ไว้คือเท่าใด?
ถุงเต้านมเทียมไม่ใช่อุปกรณ์ที่ใช้ได้ตลอดชีพโดยไม่มีการเสื่อมสภาพ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะต้องเปลี่ยนเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยสาเหตุของการผ่าตัดเปลี่ยนถุงเต้านมเทียมก็แตกต่างกันไป บางครั้งเป็นเหตุผลด้านทางเลือก เช่น ต้องการเปลี่ยนขนาดเต้านมเทียมหรือวิธีการปลูกฝัง หรือเพราะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การอักเสบติดเชื้อ การหดตัวรุนแรงของแคปซูล หรือ เต้านมเทียมแตกรั่ว และในปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาถุงเต้านมเทียมแบบที่สามารถใส่ได้ตลอดชีวิตแล้ว
โดยสรุปแล้ว ไม่มีคำแนะนำให้มีการเปลี่ยนถุงเต้านมเทียมตามระยะเวลา เว้นแต่เมื่อมีภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาเกิดขึ้น
เนื้อหาโดย พตท.นายแพทย์ ปิยะ รังรักษ์ศิริวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและศัลยแพทย์ตกแต่ง Nida Skin Cosmetic
www.nidaskincosmetic.com
www.piyasurgery.com
|
|