|
แพทย์ผิวหนังเตือนภัย เดอร์มาโรลเลอร์ ทำหน้า เสี่ยงเชื้อร้าย
นอกจากการฉีดสาร กลูตาไธโอน เพื่อหวังจะให้ผิวขาว และนอกจากการฉีดสาร โบท็อกซ์ เพื่อหวังจะให้ผิวหนัง-ผิวหน้าเต่งตึง ซึ่งล่าสุดมีดาราชายบางรายฉีดแล้วเกิดอาการเปลือกตาตก-ตาปิดจนเป็นข่าวดังแล้ว กับการทำผิว โดยเฉพาะการ “ทำหน้า” ในเมืองไทยยังมีการทำกันอีกหลายแบบ บางวิธีก็กำลังฮิตในหมู่ผู้รักษาแผลเป็นจากสิว...
เดอร์มาโรลเลอร์ (DermaRoller)” นี่ก็กำลังฮอต
แต่แพทย์ผิวหนังก็เตือนว่า “ต้องระวัง” เพราะเสี่ยง ?!?
กับเรื่องนี้ รศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานฝ่ายวิชาการสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ความรู้ความเข้าใจผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า... “เดอร์มาโรลเลอร์” ใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายลูกกลิ้ง และมีเข็มขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.25 มิลลิเมตร เมื่อกลิ้งไปบนผิวหนังก็จะทำให้เกิดรูหรือแผลขนาดเล็กมาก ๆ ซึ่งความลึกของรูหรือแผลจะขึ้นกับขนาดและความยาวของเข็ม การมีแผลลักษณะนี้ก็จะทำให้ผิวหนังต้องเกิดการซ่อมแซมตัวเองโดยสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ คนที่มีแผลเป็นจากสิวหรือมีริ้วรอยตื้น ๆ จึงรู้สึกว่าผิวดีขึ้น
เดอร์มาโรลเลอร์นี้ถือเป็นชื่อทางการค้า ทางการแพทย์เรียกว่าการ ทำ สกิน นีดลิ่ง (Skin Needling) หรือ ไมโคร-นีดลิ่ง (Micro-Needling) ซึ่งพัฒนามาจากวิธีจี้เลเซอร์ซึ่งมีราคาแพงกว่า ลำบากในการดูแลรักษา และเจ็บกว่า จึงทำให้วิธีเดอร์มาโรลเลอร์ได้รับความนิยม โดย วิธีนี้ก็พัฒนาจากการใช้เลเซอร์ซึ่งจะกรอหน้าทั้งหมด ทำให้เกิดแผลสด การรักษาต้องใช้เวลา และอาจมีรอยดำตามมา ต่อมาจึงพัฒนาเป็นการใช้เลเซอร์เจาะรูบนผิวหนัง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดคือราคาแพง ใช้เทคนิคสูง จึงมีคนประยุกต์นำเข็มเล็ก ๆ มาใช้แทนเลเซอร์ อาศัยหลักการคล้ายกัน ปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ก็มีหลากหลาย ทั้งแบบลูกกลิ้ง และแบบตรายาง
“ถามว่าได้ผลไหม เท่าที่สอบถามคนไข้หลายคนจะรู้สึกว่าได้ผล แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือข้อมูลวิชาการที่เป็นเรื่องเป็นราว ต้องยอมรับว่าเท่าที่ค้นก็ยังไม่มีข้อมูลหนักแน่นว่าได้ผลจริงในทางวิทยาศาสตร์ และระยะหลังยังพบว่านิยมเติมสารอื่น ๆ ลงไปด้วย” ...แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังระบุ
พร้อมทั้งบอกอีกว่า... ด้วยความที่เดอร์มาโรลเลอร์กำลังได้รับความนิยม มีคลินิกเปิดให้บริการมากขึ้น สิ่งที่น่ากังวลใจตอนนี้คือเรื่อง “ความสะอาดของเครื่องมือ” ที่ใช้ เพราะวิธีนี้คือการทำให้เกิดแผลโดยใช้เข็ม หากความสะอาดไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้ทำตามหลักวิชาการทางการแพทย์ โอกาส “เสี่ยงติดเชื้อโรค-ติดเชื้อร้าย” ก็สูง และจากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีหลายคลินิกนำเข็มกลับมาวนให้บริการใหม่ ซึ่งในต่างประเทศเครื่องมือเหล่านี้เมื่อใช้แล้วจะถูกทำลายหรือทิ้ง จะเหมือนกับการฉีดยา เข็มฉีดยาเมื่อใช้แล้วก็ต้องทิ้ง
“ถ้ามีการฆ่าเชื้ออย่างดีก็แล้วไป แต่ถึงแม้จะฆ่าเชื้อแล้วก็ต้องถามใจผู้รับบริการว่าจะสนิทใจหรือไม่ ถ้าจะทำก็ตามใจ แต่ควรดูว่าเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งวิธีที่จะดูว่าปลอดภัยก็คงแนะนำได้แค่ว่าต้องเห็นกับตาทุกครั้ง ว่าเขาแกะซองใหม่ออกมาจริง ๆ หรือต้องเลือกคลินิกที่เราคิดว่าไว้ใจได้” ...รศ.นพ.ประวิตรระบุ
ขณะที่ รศ.นพ.นพดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ก็บอกผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า... ปัจจุบันการรักษาแผลเป็นลักษณะนี้กำลังได้รับความนิยมสูง ทั้งที่ในความเป็นจริงเครื่องมือดังกล่าวยังไม่ผ่านการรับรองจากทาง อย. ที่ผ่านมาก็เคยมีการจับกุม แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ใช้บริการมากนัก อาจเพราะทำแล้วรู้สึกว่ามันได้ผล ที่รู้สึกว่าได้ผลก็เพราะหน้าดูเต่งตึง หลุมลึกดูตื้นขึ้น ซึ่ง จริง ๆ เป็นผลมาจากอาการอักเสบ คือเป็นเรื่องของความรู้สึก ไม่ได้เป็นผลยืนยันในทางการแพทย์ |
|