|
พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่ออุตตมะเรื่อง"อานิสงส์ของการทอดกฐิน"
การทอดกฐินและอานิสงส์ของการทอดกฐิน
(ต่อไปนี้จะว่าด้วยการทอดกฐินและอานิสงส์ของการทอดกฐินประเพณีการบำเพ็ญบุญกุศลด้วยการถวายผ้าไตรจีวรแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาครบไตรมาส ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เรียกว่า การทอดกฐิน)
การทอดกฐินเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงผนวชได้ ๓๗ พรรษา ขณะนั้น ณ เมืองราชคฤห์ ครั้งนั้นออกพรรษาแล้ว ได้มีพระภิกษุ ๓๐ รูปเดินทางมาหาพระพุทธองค์ ขณะเดินทางฝนตกหนัก พระภิกษุทั้ง ๓๐ รูปนั้นเปียกฝนมา พระพุทธองค์จึงโปรดให้ทำการทอดกฐิน เรียกว่า เป็นกฐินะจีวระ เพราะแต่เดิมมีแต่การทอดผ้าป่า
การทอดผ้าป่าหรือการทอดกฐินนั้น ผู้ทำได้อานิสงส์คล้ายๆกัน แต่อานิสงส์ของกฐินมากกว่าในด้านของพระภิกษุ คือในช่วงของอานิสงส์กฐินนั้น พระสงฆ์จะได้ยกเว้นพระวินัย ๕ ประการ ด้วยพระวินัยของพระพุทธองค์นี้ใครก็ตัดไม่ได้ แต่ด้วยอานิสงส์ของกฐินนี้ตัดได้ ซึ่งทำให้ผู้ถวายกฐินได้บุญมากกว่าในข้อนี้เพราะทำให้พระสงฆ์ไม่ต้องกังวลในจีวรช่วงของอานิสงส์กฐินนี้คือ นับแต่วันที่พระสงฆ์รับผ้ากฐินไปจนถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ จึงหมดอานิสงส์ หลังจากนั้นพระสงฆ์ก็ต้องอยู่ในพระวินัยดังเดิม
ฤดูกาลของการทอดกฐิน เริ่มแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ อนุญาตให้ทอดกฐินได้ในช่วงนี้เท่านั้น ผู้ที่ทำบุญด้วยการถวายกฐินนี้ แม้เป็นภิกษุ โสดา ก็จะมีรูปงาม ปัญญาดีแม้เกิดในเทวะภูมิก็จะเป็นเทวดาที่มีชั้นยศ มีบริวารมาก มีวิมานสีทองดังสีของจีวร ด้วยบุญที่เกิดจากการปลดพระภิกษุออกจากความกังวลในจีวร ถึงแม้เป็นมนุษย์ก็จะมีผิวพรรณงดงามขาวผ่องเป็นสีทอง ดุจสีจีวรนั้น เป็นผู้มีโรคภัยน้อยและไม่ตกในอบายมุข มีจิตคิดแต่จะทำบุญ
ฉะนั้นผ้าป่าและกฐิน จึงต่างกันที่อานิสงส์ดังนี้
การถวายกฐินนี้ ผู้ถวายผ้ากฐินไม่สามารถเจาะจงว่าจะถวายแก่พระสงฆ์รูปใด และก็มิได้หมายความว่าพระสงฆ์องค์ที่อาวุโสที่สุด หรือเจ้าอาวาสจะเป็นผู้ได้รับผ้ากฐินนั้น หากแต่จะต้องทำพิธีถวายผ้ากฐินนี้ในโบสถ์โดยพระสงฆ์ทุกรูปจะต้องญัตติ โดยเห็นพ้องกันว่า พระรูปใดสมควรที่จะเป็นผู้รับผ้ากฐินนั้น ฉะนั้นเพื่อเป็นอานิสงส์ที่ดี ผู้ถวายกฐินจึงไม่ควรมีเจตนาที่จะเจาะจงถวายพระสงฆ์รูปใดโดยเฉพาะ ควรตั้งเจตนาที่จะถวายพระสงฆ์ทุกรูปทุกองค์ ในที่นั้น จึงจะเป็นอานิสงส์แก่ผู้ถวายโดยแท้จริง
|
|