|
ถาม : คีลอยด์เกิดจากอะไร ได้ยินว่าเกิดจากหมอฝีมือไม่ดี
ผมเคยตรวจร่างกายผู้ป่วยและไปเห็นแผลผ่าตัดที่เป็นลักษณะคีลอยด์ ก็เลยลองถามว่าเกิดได้อย่างไร ได้ความว่าหลังผ่าตัดและแผลแห้งดีแล้วสองสามเดือน แผลเป็นก็เริ่มนูนขึ้น และก็มีคีลอยด์ขึ้นมา ผู้ป่วยยังเสริมอีกในทำนองว่าหมอที่ผ่าตัดควรจะรับผิดชอบที่ฝีมือไม่ดี....
นี่เป็นหนึ่งในหลายๆรายที่คิดว่าคีลอยด์เกิดจากหมอทำ ทั้งที่บางคนมีคีลอยด์ที่บริเวณอื่นมาก่อนที่จะมามีแผลผ่าตัด
ปัจจัยที่ทำให้เกิดคีลอยด์ได้แก่
1. ลักษณะของแต่ละคน เรียกง่ายๆว่ากรรมพันธุ์ กรรมใครกรรมมัน
2. ตำแหน่งที่เป็นแผล โดยเชื่อว่าถ้าเป็นตำแหน่งที่มีความตึงของผิวมาก ก็จะเป็นคีลอยด์ได้ง่าย เช่นหน้าอก หลัง หน้าท้อง
3. ชนิดของแผล ถ้าเป็นแผลที่ได้รับการรบกวนน้อยก็จะเกิดได้ยาก ในขณะที่หากแผลถูกรบกวนหรือระคายเคืองบ่อยๆก็จะเกิดได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น การเกามากๆ แผลไหม้ แผลแมงกะพรุน(มีการอักเสบเป็นระยะๆ) แผลชนิดใดๆที่ติดเชื้อ
การเกิดก็ไม่ได้เกิดง่ายๆ มักจะมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นจะไปโทษว่าเป็นความผิดใครก็เห็นจะไม่ได้
ถาม : ป้องกันได้ไหม รู้ได้อย่างไรว่าใครจะเป็น
การจะรู้ล่วงหน้าว่าเกิดแผลแล้วจะมีคีลอยด์หรือไม่ ก็คงต้องดูว่า เคยมีคีลอยด์มาก่อนหรือไม่ และในบริเวณที่เคยมีแผลเคยมีคีลอยด์ขึ้นไหม
การป้องกันที่จะทำได้ดีที่สุดคือระวังไม่ให้เกิดแผลโดยไม่จำเป็น และต้องระวังอย่างยิ่งโดยเฉพาะในคนที่เคยเป็นคีลอยด์มาก่อน หากเกิดแผลขึ้นมาต้องรีบรักษาให้หาย ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อและหลีกเลี่ยงการแคะแกะเกา
เช่น หากมีคีลอยด์ที่แขน เดินไปขอตัดขี้แแมลงวันที่หน้าอก หมอคนไหนเห็นก็คงแนะว่าไม่ทำน่าจะดีกว่า เพราะถ้าเป็นคีลอยด์ขึ้นมาก็จะน่าเกลียดยิ่งกว่าของเดิม .... หากยืนยันให้ทำ และหลังทำยังปล่อยปละละเลยไปแคะแกะเกา แบบนี้ก็คงไม่วายมีก้อนคีลอยด์โตขึ้นมาภายหลัง
ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับตัวคุณเองคือ ระวังไม่ให้เกิดแผล และเมื่อเกิดแผลต้องรักษาแผลดีๆ ไม่ไปยุ่งกับแผลมาก
ถาม : รักษาอย่างไร
หลายๆคนที่เกิดมีคีลอยด์ขึ้นมา ก็คงอยากรู้ว่าจะรักษาอย่างไร ... แผลเป็นชนิดนี้มีวิธีการรักษาต่างๆกัน
0. ผ่าตัดมันออกไป .... ล้อเล่นครับ เพราะว่าแผลเป็นคีลอยด์ "ห้าม"ตัดทิ้งเฉยๆอย่างเด็ดขาด เพราะสุดท้ายจะเกิดแผลเป็นคีลอยด์ที่สดใหม่ใหญ่เบ้อเริ่มกว่าเดิม
เอาให้ครับ วิธีรักษาคีลอยด์ที่ใช้กันหลักๆ ได้แก่
1. ฉีดสเตียรอยด์ ที่นิยมใช้ก็คือการฉีด Triamcinolone acetonide เข้าไปในตัวkeloid ผลที่ได้คือตัวkeloidจะยุบลงในบริเวณนั้นๆ
- ข้อดีคือ ง่าย หมอส่วนใหญ่ทำได้ หาได้สะดวก ราคาไม่แพง
- ข้อด้อยคือ ฉีดครั้งเดียวไม่ได้ผลต้องฉีดหลายครั้ง ช่วงที่เริ่มยุบจะยุบเป็นจุดๆดูไม่งามตา ถ้ายารั่วเข้าสู่ผิวปกติผิวหนังส่วนนั้นจะยุบบุ๋มตัวลง
2. เลเซอร์ เอาพลังงานไปทำลายเนื้อคีลอยด์ให้มันไม่โต
- ข้อดีคือ ผลที่ได้มักน่าพอใจกว่า
- ข้อด้อยคือ แพงกว่า ต้องการเครื่องมือและหมอที่ใช้เป็น
3. แผ่นเจล,แผ่นยา,ครีม รักษาคีลอยด์ มีขายตามท้องตลาดและร้ายขายยาขนาดใหญ่
- ข้อดีคือ ทำเองก็ได้ไม่ต้องง้อใคร ไม่เจ็บตัวเหมือนวิธีอื่น
- ข้อด้อย มีราคาพอสมควร .... ได้ยินมาว่าผลที่ได้มักไม่น่าพอใจ(แต่ส่วนนี้ผมไม่ยืนยันเนื่องจากยังไม่เคยใช้)
4. ฉายแสง แต่ว่าไม่ค่อยเห็นใช้ในการรักษาคีลอยด์ ส่วนใหญ่มักเห็นเวลาป้องกันมากกว่า
ทั้งนี้โรคนี้ไม่มียากินเพื่อรักษาเป็นการเฉพาะ(ได้คำตอบแล้วสำหรับคนที่จะถามว่ากินยาหายไหม หรือไปกินสมุนไพรยาโบราณจะหายไหม) อาจจะมีการจ่ายครีมทาเพื่อลดการอักเสบแก้คัน และยากินแก้คัน เพื่อชะลอการโตและไม่ให้มีอาการคัน เพราะการเกาคีลอยด์ เป็นการกระตุ้นให้มันมีขนาดใหญ่โตขึ้น |
|