|
บทความนี้เขียนขึ้นจากอารมณ์ที่ถูกกระตุกโดยสองเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย
เหตุการณ์แรก คือ คำถาม (แบบต้องการย้ำให้แน่ใจ) ของลูกสาววัยเพิ่งจบอนุบาลที่ว่า “เป็นผู้หญิงต้องขาวถึงจะสวยไม่ใช่หรือคะ” กับ การรายงานของนิสิตปริญญาโทซึ่งหยิบเอาการโฆษณาของเครื่องดื่ม (ที่กล่าวอ้างว่า) บำรุงความขาวยี่ห้อหนึ่งซึ่งนำเสนอในพื้นที่รถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งในตัวขบวนรถและพื้นที่ของรถไฟฟ้าว่า “สำรองที่นั่งสำหรับ...คนขาว” กับผลสะท้อนที่ตามมามาเป็นกรณีศึกษา
ในกรณีแรก หากดูเผินๆ ก็คงสรุปได้ง่ายๆ ว่า เด็กวัยหกขวบคนหนึ่งดูทีวีมากเกินไป เลยซึมซับเอาทรรศนะความงามตามแบบของโฆษณาผลิตภัณฑ์ประเภทไวท์เทนนิ่ง (ทำให้ผิวขาวขึ้น) มา แต่ถ้าวิเคราะห์ดีๆ คำพูดไร้เดียงสานี้ไม่เพียงสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสีผิวกับความงามเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของสีผิวกับเพศสภาพโดยเฉพาะเพศหญิงด้วย
แต่ไหนแต่ไรมา เรามักได้ยินคำกล่าวในสังคมไทยว่า เป็นผู้ชายผิวคล้ำไม่เป็นไร กลับดูแมนดีเสียอีก แต่กลับไม่เคยได้ยินว่า ผู้หญิงผิวคล้ำคือสวย อย่างดีก็ ดำขำ ผิวสีน้ำผึ้ง อะไรประมาณนี้เป็นทำนองปลอบใจมากกว่า แต่ตอนนี้อิทธิพลของวัฒนธรรมไวท์เทนนิ่งก็ขยายไปถึงเพศชายเรียบร้อยแล้ว ดังจะเห็นจากโฆษณาผลิตภัณฑ์บำรุงความหล่อต่างๆ ที่เน้นความขาว กระจ่างใส ไร้ริ้วรอยเป็นสาระสำคัญ
เรื่องของสีผิวในสังคมไทยไม่เพียงผูกพันอย่างแนบแน่นกับความคิดเรื่องความงาม ทว่ายังเป็นตัวบ่งชี้ชนชั้น และความสามารถในการข้ามชนชั้นของคนได้ด้วย โดยภาพรวม คนผิวขาวมักจะมีต้นทุนทางสังคมดีกว่าคนผิวคล้ำ คิดง่ายๆ ว่า คนสองคนที่มาจากชนชั้นล่างเหมือนกัน หน้าตา บุคลิกลักษณะ และความรู้พอๆ กัน แต่สีผิวต่างกันอย่างชัดเจน มีความเป็นไปได้ที่สูงที่คนที่ผิวขาวกว่าจะได้รับการหยิบยื่นโอกาสทางสังคมให้มากกว่า โดยเฉพาะผู้หญิง
อันที่จริง การให้ความสำคัญหรือให้คุณค่ากับผิวขาว หรือผิวสีอ่อนกว่าเป็นวาทกรรม (ชุดความคิดและการรับรู้ความจริงที่สร้างอำนาจให้คนกลุ่มหนึ่งและทอนอำนาจคนอีกกลุ่มหนึ่ง) ที่แพร่หลายอยู่ทั่วโลกโดยสามารถสืบสาวรากเหง้าที่มาไปถึง ลัทธิล่าอาณานิคม และโลกาภิวัตน์ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ในโลกตะวันตกอันเป็นดินแดนแห่งคนผิวขาว ในบางบริบท วาทกรรมสีผิวนี้ก็ถูกยกระดับหรือทวีความเข้มข้นจนเป็นอุดมการณ์เหยียดสีผิว อย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างสีผิวยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังจนถึงปัจจุบัน
นักวิชาการหลายคนโดยเฉพาะในกลุ่มสื่อและวัฒนธรรมศึกษามักวางตำแหน่งของวาทกรรมผิวขาวว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อครองความเป็นเจ้า (hegemony) และครอบงำสังคม ในสังคมของประเทศกำลังพัฒนาที่คนท้องถิ่นไม่ใช่คนผิวขาวโดยกำเนิด อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวพรรณ ตลอดจนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และอาหารเสริมบางประเภท ก็มักจะตอกย้ำความจำเป็นที่จะต้องทำผิวให้ขาวขึ้น เพื่อเข้าใกล้อุดมคติแห่งความงาม คือ ความขาว โดยพยายามแสดงผลลัพธ์ที่เห็นได้ด้วยตาถึงความแตกต่างของสีผิวก่อนและหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ แรกๆ จะมีเพียงผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่ในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา ก็จะขยายกลุ่มไปถึงผู้ชาย สิ่งที่เหมือนกันระหว่างโฆษณาผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งของทั้งหญิงและชายก็คือการใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นดารานักแสดงซึ่งเป็นทีรู้จักและมีผิวขาวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคุณแอฟ ทักษอร คุณพลอย เฌอมาลย์ คุณเคน ธีรเดช หรือคุณโดม ปกรณ์ ลัม ยังไม่เคยเห็นโฆษณาไวท์เทนนิ่งชิ้นใด อาจหาญเอาดาราผิวเข้มที่โด่งดังไม่แพ้กันอย่าง คุณป๋อ ณัฐวุฒิ หรือ คุณเบนซ์ พรชิตา มาเป็นพรีเซ็นเตอร์เลย เห็นคุณสองคนนี้ได้โฆษณาก็แต่รถกระบะกับยาสีฟัน ซึ่งในกรณีรถกระบะอาจจะดูว่าคุณป๋อซึ่งหล่อแบบคล้ำเข้มเหมาะสมกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่มีวิถีชีวิตที่โลดโผน สมบุกสมบัน และ ตจว. ขณะที่คุณเบ็นซ์ก็มีฟันขาวสวยตัดกับผิวสีเข้มบาดตา
|
|