|
กลูตาไธโอน...สารอันตราย
ผมได้ไต่ถามไปยังคุณหมอทางด้านเสริมความงามก็ได้ทราบว่า สารกลูตาไธโอนที่ทำให้ผิวขาว หรือที่ใช้ฉีดเพื่อให้ผิวขาวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) ของไทย ส่วนประโยชน์ที่แท้จริงในทางการแพทย์นั้นคือ เขานำมาใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งกระเพาะอาหาร ในประเทศอิตาลี แต่ผลข้างเคียงคือ ทำให้ผิวขาวชั่วคราว
นี่แหละครับเลยกลายเป็นช่องทางทำมาหากินของบรรดาสถานเสริมความงาม ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ที่ถูกฉีดสารชนิดนี้เข้าไป เพราะในทางการแพทย์นั้นเขาอนุญาตให้ใช้สารกลูตาไธโอนในปริมาณไม่มาก ซึ่งในเครื่องสำอางทั่วไปพบว่า มีการผสมลงไปบ้าง แต่เพียง 0.000001-0.000005% เท่านั้น โดยปริมาณนี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับข่าวการฉีดสารนี้เข้ากล้ามเนื้อ หรือเส้นเลือด ที่ใช้ปริมาณมากถึงประมาณ 600 มิลลิกรัม ต่อหลอด ซึ่งถือว่าอันตรายมาก เพราะอาจทำให้เกิดการแพ้ยาถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ ที่สำคัญเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้
เพราะการได้รับสารกลูตาไธโอนปริมาณมาก จะส่งผลให้หยุดการสร้างเอนไซม์เม็ดสีที่เป็นธรรมชาติของผิวคนเอเชียที่เป็นสีคล้ำ ทำให้ผิวคนเอเชียจากที่เคยกรองแสงอัลตร้าไวโอเลตได้มาก ก็ทำให้กรองได้ลดลง นอกจากนี้ หลังจากได้รับสารนี้ เม็ดสีในตาดำของคนเอเชียอาจจะกรองแสงได้ลดลง ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อจอประสาทตา...น่ากลัวเลยนะครับคุณสาวๆ
โทษทางกฎหมาย . . .ของผู้ให้บริการ
กรณีที่คลินิกผิวหนังหลายแห่งนำสารกลูตาไธโอนมาใช้กับผู้รับบริการนั้น ถือว่าเป็นความผิดข้อหาใช้ยาที่มีได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาในการดำเนินกิจการสถานพยาบาลตาม พ.ร.บ. ยา มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการโฆษณา สารกลูตาไธโอนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดปรับไม่เกิน 100,000 บาท ครับ และจะมีโทษหนักขึ้น หากโฆษณาว่าสารกลูตาไธโอนสามารถทำให้เกิดแสงออกจากตัว ประเภทใครเดินผ่านนึกว่าเธอเป็นตัวละครจากหนังเรื่อง "Star Wars" หรือสามารถเปลี่ยนสีผิว จากนั้นจะต้องมีการถอนโฆษณาดังกล่าวออกจากสื่อด้วยนะครับ
นอกจากนี้ เนื่องจากการใช้สารกลูตาไธโอน ยังถือเป็นการปฏิบัติทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้อง เพราะยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ทำให้คุณหมอที่ฉีดสารดังกล่าวให้ผู้ป่วยมีความผิดทางจรรยาบรรณ โดยแพทยสภาสามารถลงโทษคุณหมอผู้นั้นฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมผิดมาตรฐานทางการแพทย์ อีกด้วยครับ
ไม่มีใบอนุญาตทางการแพทย์...โทษยิ่งหนัก
หากผู้ให้บริการไม่ใช่แพทย์ เช่น เป็นหมอเถื่อน หมอกำมะลอ ที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ ถือว่ามีความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการกระทำผิดแบบนี้ก็มักจะหลบๆ ซ่อนๆ เช่น แอบเปิดตามสถานที่ต่างๆ หรือใช้รถตู้ตระเวนไปฉีดสารผิวขาวให้สาวๆ ตามหมู่บ้าน ชุมชน ออฟฟิศ ฯลฯ แบบนี้เป็นความผิด โทษฐานเปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วยนะครับ ซึ่งก็จะทำให้มีความผิดตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจมีคำสั่งริบบรรดาสิ่งของที่ใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลด้วยก็ได้ครับ
รับโทษอาญาและแพ่ง...อีกด้วย
กรณีที่ผู้มาใช้บริการเกิดปัญหาหลังการฉีดสารผิวขาว (ซึ่งมีแนวโน้มสูงเลยนะครับ) ทั้งหมอเถื่อนและไม่เถื่อนก็ต้องรับโทษตามกฎหมายในทางอาญา และผู้เสียหายยังสามารถฟ้องร้องคดีทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่ทำให้คุณมีปัญหาสุขภาพหลังการใช้บริการได้อีกนะครับ ย้ำเลยนะครับว่าต้องรับโทษทั้งนั้น แม้ว่าผู้ให้บริการอาจจะหัวหมอทำเป็นหนังสือให้ผู้รับบริการยินยอมอนุญาตให้ฉีดสารผิวขาวเข้าไป เพื่อเลี่ยงการรับโทษทางอาญาและแพ่ง แต่เรื่องนี้แม้ทำหนังสือยินยอมก็ตาม แต่เมื่อเกิดการกระทำผิดกฎหมายขึ้น ผู้กระทำก็ต้องรับผิดรับโทษอยู่ดีครับ
|
|